Backward Design
การออกแบบการจัดการเรียนรู้โดยวิธี Backward Design
หลักการ แนวคิด Backward Design Backward Design หรือการออกแบบย้อนกลับ เป็นกระบวนการออกแบบการจัดการเรียนรู้ที่กำหนดหลักฐานการแสดงออกของผู้เรียน/กิจกรรมการประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนตามมาตรฐานการเรียนรู้ หรือตามผลการเรียนรู้ที่คาดหวังก่อน แล้วจึงออกแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ ความสามารถ และแสดงความรู้ ความสามารถตามหลักฐานการแสดงออกของผู้เรียน/กิจกรรมการประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนที่กำหนดไว้ วิธีนี้ได้เผยแพร่โดย Grant Wiggins และ Jay McTighe เมื่อ ค.ศ.1998 ได้ให้แนวการออกแบบการจัดการเรียนรู้สำหรับ 1 หน่วยการเรียนรู้ไว้ 3 ขั้นตอนใหญ่ ๆ ได้แก่
ขั้นที่ 1
กำหนดความรู้ความสามารถของผู้เรียนที่ต้องการให้เกิดขึ้น(Identify desired results)ตามมาตรฐานการเรียนรู้/ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ขั้นที่ 2
กำหนดหลักฐานการแสดงออกของผู้เรียนที่ต้องการให้เกิดขึ้น หลังจากได้เรียนรู้แล้วซึ่งเป็นหลักฐานการแสดงออกที่ยอมรับได้ว่า ผู้เรียนมีความรู้ ความสามารถตามที่กำหนดไว้
(Determine acceptable evidence of learning)
ขั้นที่ 3
ออกแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้(Plan learning experiences and instruction)เพื่อให้ผู้เรียนได้แสดงออกตามหลักฐานการแสดงออกที่ระบุไว้ในขั้นที่ 2 เพื่อเป็นหลักฐานว่า ผู้เรียนมีความรู้ ความสามารถตามที่กำหนดไว้ในขั้นที่ 1 แต่ละขั้นตอนมีรายละเอียดโดยสรุป ดังนี้
ขั้นที่ 1 กำหนดความรู้ความสามารถของผู้เรียนที่ต้องการ(Identify desired results)
คือครูผู้สอนจะต้องวิเคราะห์ให้ได้ว่า ในหลักสูตร/มาตรฐานการเรียนรู้ของหน่วยการเรียนรู้ที่ออกแบบกำหนดไว้ว่าผู้เรียนจะต้องมีความรู้ความเข้าใจเรื่องอะไร ต้องมีความสามารถทำอะไรได้และสาระ/ความรู้ และความสามารถอะไร ที่ควรเป็นความเข้าใจคงทนที่ติดตัวผู้เรียนไปเป็นเวลานาน (Enduring understandings- “ความเข้าใจที่คงทน”) ในการจัดทำหน่วยการเรียนรู้ และกำหนดความรู้ ความสามารถ ของผู้เรียนที่ต้องการให้เกิดขึ้นนี้ ครูผู้สอนต้องพิจารณาพันธกิจ เป้าประสงค์ และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของหลักสูตรสถานศึกษา และพิจารณามาตรฐานการเรียนรู้ของหน่วยการเรียนรู้ที่กำลังออกแบบการจัดการเรียนรู้ด้วย
ขั้นที่ 2 กำหนดการแสดงอออกของผู้เรียนที่เป็นหลักฐานที่ชัดเจน และยอมรับได้ว่าผู้เรียนมีความรู้ ความสามารถตามที่กำหนดไว้ (Determine acceptable evidence of learning) ในขั้นที่ 1
หลังจากได้เรียนรู้หน่วยฯ ที่กำหนดให้แล้ว คำถามสำหรับครูผู้ออกแบบการจัดการเรียนรู้ต้องหาคำตอบให้ได้สำหรับขั้นตอนนี้ คือ ครูผู้สอนจะรู้ได้อย่างไรว่า ผู้เรียนมีความรู้ ความเข้าใจตามมาตรฐาน หรือผลการเรียนรู้ที่คาดหวังของหน่วยการเรียนรู้ที่กำหนดไว้? การแสดงออกของผู้เรียนควรมีลักษณะอย่างไร จึงจะยอมรับได้ว่า ผู้เรียนมีความรู้ ความเข้าใจตามที่กำหนดไว้? ดังนั้น ครูผู้สอนจึงต้องประเมินผลการเรียนรู้โดยการตรวจสอบการแสดงออกของผู้เรียนเป็นระยะ ๆ ด้วยวิธีการที่หลากหลายทั้งเป็นทางการ และไม่เป็นทางการ สะสมตลอดหน่วยการเรียนรู้ ดังนั้น จึงไม่ควรใช้วิธีการประเมินผลการเรียนรู้เพียงครั้งเดียวแล้วตัดสินเป็นผลการเรียนรู้ของผู้เรียนใน 1 หน่วยการเรียนรู้
ขั้นที่ 3 ออกแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้(Plan learning experiences and instruction)
หลังจากที่ครูผู้สอนได้กำหนด “ความเข้าใจที่คงทน” และกำหนดหลักฐานการแสดงออกของผู้เรียนที่แสดงให้เห็นว่า ผู้เรียนมีความรู้ และทักษะสำคัญ และมีความเข้าใจที่คงทนแล้ว ครูผู้สอนควรออกแบบการจัดการเรียนรู้ หรือจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ โดยกำหนดกิจกรรมต่าง ๆ ให้ผู้เรียนปฏิบัติ
ขั้นตอนการออกแบบการจัดการเรียนรู้แบบ Backward Design ดังนี้
1. กำหนดชื่อหน่วยการเรียนรู้/จัดทำหน่วยการเรียนรู้ที่มีคุณค่าต่อผู้เรียน และสังคมและเหมาะสม สอดคล้องกับระดับการศึกษาของผู้เรียน
2. ตั้งคำถามสำคัญที่เป็นคำถามสรุปความเข้าใจรวบยอด(Essential question)ของหน่วยฯ เพื่อนำไปสู่การกำหนดความเข้าใจที่คงทน(Enduring understanding)
3. กำหนดความเข้าใจที่คงทน(Enduring understanding) ของหน่วยฯ ที่ต้องการให้เป็นความรู้ความเข้าใจติดตัวผู้เรียนไปใช้ในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้เป็นเวลานาน
4. กำหนดจิตพิสัย(Disposition standards) ของหน่วยการเรียนรู้ที่กำหนด ที่ต้องการให้เกิดขึ้นกับผู้เรียน
5. กำหนดความคิดรวบยอดหลัก(Core concepts)ที่สำคัญ ซึ่งแต่ละ Concept มีความเชื่อมโยงสอดคล้องกัน และส่งเสริมกัน เพื่อให้ผู้เรียนมีคุณลักษณะตามหน่วยการเรียนรู้ที่กำหนด
6. กำหนดความรู้ และทักษะเฉพาะวิชา(Subject-specific standard) ที่เป็นความรู้(K) ทักษะกระบวนการ(P) และ ค่านิยม คุณธรรม จริยธรรม(A) เฉพาะวิชา ของแต่ละ Concept(จากมากน้อยเท่าไรจึงจะเพียงพอแต่ละ Concept แล้วแต่ผู้สอนจะพิจารณา)เพื่อที่จะพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณลักษณะตามหน่วยการเรียนรู้ที่กำหนด
7. ตราจสอบความสอดคล้องของความรู้ และทักษะเฉพาะวิชา (ความรู้(K) ทักษะกระบวนการ(P)และ ค่านิยม คุณธรรม จริยธรรม(A) ของแต่ละ Concept) กับมาตรฐานการเรียนรู้(12 ปี)ของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2544
8. กำหนดทักษะคร่อมวิชา(Trans-disciplinary skills standards)ที่ต้องใช้ในการจัดการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน เช่น กระบวนการกลุ่ม การวิเคราะห์ การเขียนรายงาน ฯลฯ ที่เป็นทักษะที่สามารถใช้ได้หลายวิชา หรือเป็นการยืมทักษะของวิชาอื่นมาใช้ เช่น การเขียนของวิชาภาษาไทย
9. กำหนดการแสดงออกของผู้เรียนที่เป็นหลักฐานที่แสดงว่า ผู้เรียนมีความรู้ ความเข้าใจตามความรู้(K) ทักษะกระบวนการ(P) และ ค่านิยม คุณธรรม จริยธรรม(A) ที่ครูผู้สอนต้องการให้เกิดขึ้นกับผู้เรียน ให้ครบทุก Concept โดยการออกแบบการประเมินผลการเรียนรู้ให้เหมาะสมสำหรับความรู้ และทักษะเฉพาะวิชาแต่ละรายการ
10. จัดกลุ่มหลักฐานการแสดงออกของผู้เรียน ให้เป็นลำดับที่เหมาะสมตามที่จะนำไปจัดการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนจริง กิจกรรมที่สามารถจัดรวมกันได้ ควรจัดไว้ในกลุ่มเดียวกัน เช่น การจัดนิทรรศการ เพื่อไม่ให้ผู้เรียนปฏิบัติกิจกรรมซ้ำซ้อน
11. ออกแบบการจัดการเรียนรู้ เป็นการกำหนดกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ หรือจัดประสบการณ์การเรียนรู้ โดยนำการแสดงออกของผู้เรียน ที่เป็นหลักฐานว่าผู้เรียนมีความรู้ ความเข้าใจสำหรับความรู้และทักษะเฉพาะวิชาที่กำหนด(การประเมินผลการเรียนรู้) แต่ละรายการมากำหนดกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ หรือการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้กับผู้เรียน กำหนดสื่อ อุปกรณ์ และแหล่งการเรียนรู้ และจำนวนชั่วโมง ของแต่ละกิจกรรมให้เหมาะสม
12. ตรวจสอบความเหมาะสมของการออกแบบการจัดการเรียนรู้
13. นำผลการออกแบบการจัดการเรียนรู้ไปจัดการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน
ที่มา :ดร.เฉลิม ฟักอ่อน. ศึกษานิเทศก์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาลำพูน เขต 1.
ที่มา :ดร.เฉลิม ฟักอ่อน. ศึกษานิเทศก์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาลำพูน เขต 1.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น